ความสัมพันธ์ประเทศไทยกับสาธารณรัฐอิตาลี

Release Date : 22-07-2015 00:00:00
ความสัมพันธ์ประเทศไทยกับสาธารณรัฐอิตาลี

ความสัมพันธ์ประเทศไทยกับสาธารณรัฐอิตาลี

ด้านการทูต

ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิตาลีมา ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868) โดยไทยและอิตาลีได้ลงนามสนธิสัญญาฉบับแรกคือ สนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ การพาณิชย์ และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) ซึ่งได้ลงนามเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1868 ต่อมาอิตาลีได้แต่งตั้งกงสุลอิตาลีประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2429

ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-อิตาลีโดยทั่วไปดำเนินไปอย่างราบรื่น ทั้งสองฝ่ายไม่มีปัญหาขัดแย้งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน นอกจากนั้น ยังมีการแลกเปลี่ยนการเยือนทั้งในระดับพระราชวงศ์ บุคคลสำคัญ และเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลทั้งสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ

ไทยมีสถานเอกอัครราชทูตไทยประเทศอิตาลีที่กรุง โรม และมีสถานกงสุลใหญ่ประจำประเทศไทย 5 แห่ง คือ ที่เมือง ตูริน เจโนวา มิลาน นาโปลี และ คาตาเนีย และที่มีสถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยที่ กรุงเทพ

การค้าและเศรษฐกิจ

ในปี พ.ศ. 2549 ประเทศอิตาลีเป็นคู่ค้าของไทยอันดับที่ 4 ใน สหภาพยุโรป และอันดับที่ 21 ในโลก โดยมีมูลค่าการค้ารวม 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.2 ของการค้ารวมของไทย เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2548 ร้อยละ 0.24 โดยไทยส่งออก 1.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 1.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการลงทุน ในปี พ.ศ. 2549 การลงทุนของอิตาลีในไทย มีมูลค่ารวม 481.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากปี พ.ศ. 2548 โดยเป็นด้านแร่ธาตุและเซรามิค 1 โครงการ อุตสาหกรรมเบาและเส้นใย 2 โครงการ ผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร 3 โครงการ ด้านเคมีภัณฑ์และกระดาษ 1 โครงการและด้านบริการ 2 โครงการ

สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ รถยนต์ และส่วนประกอบ ยางพารา ปลาหมึก สดแช่เย็น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ อัญมณีและเครื่องประดับ ผ้าผืน เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์ เป็นต้น

สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผลิตภัณฑ์โลหะ ผลิตภัณฑ์ พลาสติก เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ การทดสอบ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เป็นต้น

การท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวอิตาลีมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยประมาณ 130,000 คนต่อปี โดยมีจำนวนมากน้อยตามสภาวะเศรษฐกิจของอิตาลีและยุโรป ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยไปอิตาลีปีละประมาณ 12,350 คน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี และสายการบินไทยมีเส้นทางการบินจากกรุงเทพสู่มิลาน สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน จากเดิมมีเพียงการบินจากโรมเข้าสู่กรุงเทพทั้งสิ้น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

ความตกลง
ความตกลงที่เสร็จสิ้นแล้ว
- ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (มีผล 15 ธันวาคม ค.ศ. 1955)
- สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอิตาลี ( ลงนามเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1984)
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งกำลังบำรุงทหารไทย-อิตาลี ฝ่ายอิตาลีเสนอมาเมื่อปี ค.ศ. 1990 และรื้อฟื้นในปี ค.ศ. 1994
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการเงิน ลงนามเมื่อ 22 เมษายน ค.ศ. 1988
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการลงทุนไทย-อิตาลี ลงนามเมื่อมีนาคม ค.ศ. 1992 ระหว่าง BOI กับ Italian Trade Commission กระทรวงการค้าอิตาลี
- ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะมนตรีธุรกิจไทย-อิตาลี ลงนามเมื่อ 14 มีนาคม ค.ศ. 1994 ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอิตาลี (CONFINDUSTRIA)
- ข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเทคโนโลยี ระหว่างสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย กับสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอของอิตาลีเมื่อ 27 มีนาคม ค.ศ. 1999
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ลงนามเมื่อ 22 กันยายน ค.ศ. 2004
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ลงนามเมื่อ 22 กันยายน ค.ศ. 2004

ความร่วมมือไทย-อิตาลี

ความร่วมมือทางทหาร
- ไทยสั่งซื้อเรือทำลายทุ่นระเบิดจำนวน 2 ลำจากบริษัท Intermarine ของอิตาลี โดยส่งมอบลำแรกเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1999 และส่งมอบลำที่ 2 ( ร.ล. ท่าดินแดง) เมื่อเดือนมิถุยายน ค.ศ. 1999
- บริษัทอู่ต่อเรือ Fincantieri เสนอถ่ายทอดเทคโนโลยี (เฉพาะเรือรบ) ให้บริษัทอู่ต่อเรือของไทย โดยไม่คิดมูลค่า

ความร่วมมือด้านวิชาการ
ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทย-อิตาลี ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985-1994 มีหน่วยงานต่างๆได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอิตาลีจำนวน 11 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน และมีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร คมนาคม สาธารณูปโภค อาชีวศึกษา และการแพทย์

ความร่วมมือในรูปของทุนฝึกอบรม/ดูงาน
รัฐบาลอิตาลีได้จัดสรรทุนด้านพลังงาน การเกษตร เศรษฐศาสตร์ อาชีวศึกษา การโรงแรมและท่องเที่ยว ให้แก่ไทยค่อนข้างสม่ำเสมอจนถึงปี ค.ศ. 1993 และหยุดไประยะหนึ่งในช่วง ปี ค.ศ. 1994-1997 และเริ่มให้ทุนการศึกษาใหม่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา
- สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย มีทุนการศึกษาให้นักศึกษาไทยประมาณปีละ 5 ทุน ในระดับปริญญาตรีและ post graduate โดยให้ในสาขาวิชาต่างๆ ตามแต่จะได้รับมาจากสถาบันอุดมศึกษาของอิตาลี
- มูลนิธิโครงการหลวงได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอิตาลี ในโครงการ artichokes

ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม
ไทยและอิตาลีมีความร่วมมือด้านวัฒนธรรมมานาน โดยในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ไทยได้ว่าจ้างสถาปนิก จิตรกร และศิลปินชาวอิตาเลียนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบอาคาร สถานที่สำคัญๆ ของไทย อาทิ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทำเนียบรัฐบาล บ้านพิษณุโลก กระทรวงกลาโหม สถานีรถไฟหัวลำโพง วังบางขุนพรหม พระที่นั่งอภิเษกดุสิต พระที่นั่งสวนอัมพร ห้องสมุดเนลสัน เฮยส์ สำหรับชาวอิตาเลียนที่มีบทบาทในวงการศิลปะของไทยมากที่สุดคือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ( นาย Corrado Feroci) ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และความร่วมมือในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ระหว่างสอท. อิตาลีประจำประเทศไทยและบริษัทต่างๆ ของอิตาลีในไทย ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของไทยทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมหาวิทยาลัยของไทย อาทิ การประชุมอิตาเลียน-ไทย ครั้งที่ 1 เรื่อง " เส้นทางศิลปะวิทยาการอิตาเลียน-ไทย จากศตวรรษที่ 19 สู่ปัจจุบัน " โดยสอท. อิตาลีฯ จัดร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1997 ความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมที่เพิ่งผ่านมา มีอาทิ การจัดแสดงดนตรีของวง Rome String Quartet เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ โดยมีสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนคริทร์ เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน โดยจัดที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1999 และในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1999 สอท. อิตาลี ร่วมกับสายการบิน Alitalia หอการค้าไทย-อิตาลี และบริษัทอิตาลีต่างๆ จัดงาน "Italian Memorial Day" ขึ้นที่ถนนปั้น สีลม เพื่อระลึกถึงศิลปินชาวอิตาเลียนที่ได้สร้างสรรค์ผลงานในไทย โดยมีการแสดงดนตรีอิตาเลียน อาหารอิตาเลียน และการแสดงละครของนักศึกษาไทยในงาน ทั้งนี้สอท. อิตาลีมีโครงการจะจัดงานในลักษณะดังกล่าวเป็นประจำทุกปี
สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ได้มีส่วนร่วมในโครงการบูรณะ วังพญาไท ( Phya Thai Palace Restoration Project) ของมูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ( Phra Mongkut Klao Hospital Foundation) โดยได้นำคณะผู้เชี่ยวชาญเชิงอนุรักษ์จากอิตาลีมาชมโครงการ และเสนอให้ความร่วมมือสนับสนุนการบูรณะ และต่อมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม ได้ประสานเรื่องนี้ กับทางรัฐบาลอิตาลี ซึ่งได้ขอให้ทางโครงการฯ ประสานรายละเอียดกับฝ่ายอิตาลีโดยตรงต่อไป อนึ่ง จากการหารือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยกับนาย Valentino Martelli รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี ในระหว่างการประชุม UNGA สมัยที่ 54 เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1999 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะให้มีการส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมให้กระชับยิ่งขึ้น ปัจจุบันอิตาลีได้รับรองสถานะพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการ โดยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2000 นายกรัฐมนตรีอิตาลีได้ลงนามความตกลงกับประธานสหภาพสมาคมพุทธในอิตาลี เพื่อให้พุทธศาสนามีสถานะเป็นทางการในอิตาลี ทำให้ผู้เสียภาษีสามารถแสดงความจำนงให้แบ่งภาษีในอัตราร้อยละ 0.8 ของภาษีรายได้ส่วนบุคคลที่ต้อง ชำระให้แก่รัฐบาล เพื่อบริจาคให้องค์กรทางพุทธศาสนาได้ ปัจจุบันมี พุทธศาสนิกชนในอิตาลีประมาณ 40,000 คน

ความร่วมมือระหว่างรัฐสภา
รัฐสภาไทยได้จัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-อิตาลี โดยมีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 77 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 26 คน รวมสมาชิกสมทบอีก 16 คน โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นประธาน และนายสุพร สุภสร เป็นรองประธานคณะกรรมการบริหารในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 2001 ปัจจุบัน นาย Pier Ferdinando CASINI ดำรงตำแหน่ง President of the Chamber

การแลกเปลี่ยนการเยือน
ไทยและอิตาลีได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ
ฝ่ายไทย

ระดับพระราชวงศ์
ปี ค.ศ. 1897 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ
25 เม.ย – 24 พ.ค. 1907 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ เยือนอิตาลี
28 ก.ย. - 1 ต.ค. 1960 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของประธานาธิบดี Giovanni Gronchi และ นรม. Amintore Fanfani
8-14 ก.ย. 1985 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลอิตาลี
3-16 เม.ย. 1988 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงรับเชิญเป็นกรรมการตัดสินหนังสือเด็กที่เมืองโบโลญญา และเป็นพระราชอาคันตุกะของรัฐบาลอิตาลี
25 เม.ย. – 7 พ.ค. 1996 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชครินทร์ เสด็จฯ เยือนอิตาลี (ส่วนพระองค์)
25-29 ก.ค. 1996 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอิตาลี (ส่วนพระองค์)
18-20 ก.พ. 1996 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอิตาลี
23 ก.พ. – 1 มี.ค. 1997 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอิตาลี
6-12 ต.ค. 1997 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอิตาลี ( ส่วนพระองค์)
10-14 ต.ค. 1997 และ 4-6 ส.ค. ค.ศ. 1999 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนอิตาลี ( ส่วนพระองค์)
12-16 มี.ค. 2001 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จเยือนอิตาลี (ส่วนพระองค์)
8-11 เม.ย. 2002 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนจังหวัดคาตาเนีย แคว้นซิซิลี ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานจังหวัดคาตาเนีย
27-30 ต.ค. 2002 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนอิตาลี (ส่วนพระองค์)
25 ก.ย.- 5 ต.ค. 2003 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอิตาลี
24-29 ก.ย. 2004 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จฯ เยือนมิลานเพื่อร่วมงานวิถีแห่งเอเชีย
11-14 ต.ค. 2004 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอิตาลีเพื่อกล่าวเปิดการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการอาหารโลก ครั้งที่ 3 และรับการถวายตำแหน่ง Special Ambassador of the United Nations World Food Programme for School Feeding

ระดับบุคคลสำคัญ
- 20 - 21 ม.ค. 1986 ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-อิตาลี ครั้งที่ 2 ณ กรุงโรม
- 19 - 21 ก.ย. 1994 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการ
- 4-5 ก.พ. 1998 ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนอิตาลีในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในการประชุม JC ไทย-อิตาลี ครั้งที่ 4 ณ กรุงโรม
- 19 พ.ย. 1998 ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนอิตาลี เพื่อหาเสียงผ.อ. WTO
- 14-16 พ.ย. 1998 นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เยือนอิตาลี
- 4-8 พ.ค. 1998 นายวัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ดูงานฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
- ในปี 1999 มีการเยือนของ นายสุทัศน์ เงินหมื่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ( 24 ก.พ. – 1 มี.ค.) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ( 12-14 พ.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ( 22 มิ.ย.) และนายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ( 10-14 พ.ย.)
- ในปี 2000 นายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเยือนอิตาลีระหว่างวันที่ 24-26 มี.ค. และ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนอิตาลีระหว่างวันที่ 6-9 เม.ย
- 21-24 ต.ค. 2003 นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรเยือนอิตาลี
- 20-22 ก.ย. 2004 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีเยือนอิตาลี
- 21-23 ก.ย. 2004 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการ
- 27-29 พ.ค. 2005 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรีเยือนอิตาลี